THAiDRiVER Review: 2023 Isuzu D-Max V-cross Double Cab 3.0M 6AT 4×4 [1,257,000฿] – อันล็อคสไตล์ใหม่กับคันเร่งที่ไวและทันใจขึ้น!
ถ้าพูดถึงแบรนด์ Isuzu ในสมัย20-30ปีก่อนเราคงนึกถึงกันแต่แบรนด์ที่ทำรถกระบะเน้นใช้งานและทนทานมาขายโดยที่ไม่ได้เน้นสมรรถนะการขับขี่หรือเทคโนโลยีอะไรมากมายนัก ถ้าเป็นรถเก๋งในเมืองไทยก็มีการนำHonda Civic EK โฉมตาโตมาทำเป็น Isuzu Vertex แต่ปัจจุบันบางคนก็ยังไม่ทราบว่าจริงๆแล้ว Isuzu ไม่ได้ทำแต่รถบรรทุก, กระบะและPPVอย่างเดียว แต่ในสมัยก่อนยังเคยมีรถเก๋งและรถสปอร์ตเป็นของตัวเอง เช่น Isuzu Gemini, Isuzu Impulse (Handling by Lotusเลยนะครับ!)
Isuzu Gemini Isuzu Impulse Isuzu Vertex
หรือแม้กระทั่งรถคอนเซ็ปอย่าง Isuzu 4200R เครื่อง V8 4.2ลิตรวางกลางลำตัวรถขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือบางคนอาจจะดูถูกว่า Isuzu ทำแต่เครื่องรถบรรทุกกับรถกระบะเน้นประหยัดคงทำอะไรแซ่บๆ สนองคนบ้ารถไม่ได้หรอก จะบอกว่าในอดีต Isuzu เคยทำเครื่องยนต์ V12สูบหายใจเองสำหรับรถF1ของLotusนะครับถึงแม้ว่ามันจะไม่เคยลงแข่งจริงก็ตามเนื่องจากถึงแรงม้าจะสูงแต่ดันทำเวลารอบสนามได้ไม่ดีเท่าที่ควรในช่วงทดสอบบวกกับว่า ทางIsuzuไม่ได้สนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันF1อยู่แล้ว เครื่องตัวนั้นก็เลยไม่ได้ไปต่อครับ หรือถ้าเอาแบบรถคนทั่วไปพอจะหาซื้อได้หน่อยในสมัยก่อนก็จะมี Isuzu Impulse RS Turbo ที่เป็นรถสปอร์ต 2 ประตูที่พกเครื่อง 1.6ลิตร 4 สูบทวินแคมเทอร์โบชาร์จพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ปั่นพลังสูงสุด 160 hpกับแรงบิด 203 NM พร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบViscous-Couplingที่แบ่งกระจายการถ่ายพลังลงสู่ล้อเป็น หน้า 43 : หลัง 57 (Rear Biasedนิดๆ) แล้วก็มีความพิเศษ ตรงที่มีระบบช่วยเลี้ยวล้อหลังแบบไม่พึ่งเซ็นเซอร์ Nishiboric Passive Rear-Wheel Steering Systemที่ทำงานโดยอาศัยการเปลี่ยนค่า Toe ที่ล้อจากการขยับขึ้นลงของระบบช่วงล่างหลัง ฟังแล้วดูเจ๋งกว่าภาพจำเดิมๆของ Isuzu ในไทยใช่มั้ยครับ? แต่ชาวไทยอย่าพึ่งน้อยใจเพราะในปัจจุบันรถของทาง Isuzu ใช่ว่าจะจืดนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง 2.5 ตระกูล 4jk, 3.0 ตระกูล 4jj หรือน้องใหม่อย่าง 1.9 Ddi Blue powerตระกูล RZ4E-TC ถ้าสายซิ่งสายโมดิฟายจะรู้กันดีว่าเครื่องเหล่านี้เป็นที่เผ็ดซู้ดปากมาก สำหรับสายดีเซลซิ่งเพราะเอื้ออำนวยต่อการโมดิฟายง่าย ต่อยอดได้มาก ของแต่งเพียบ ทนทานระดับนึง ทำแรงม้าต่อบาทที่ลงไปได้คุ้มค่ากว่าเครื่องยนต์กระบะเจ้าอื่นๆใน
สเต็ปเดียวกัน โดยเฉพาะตัว 3.0 ลำพังแค่รีแม็ปก็วิ่งน่ากลัวจนรถเก๋งทั่วไปที่ไม่ได้โมดิฟายเยอะก็เหวอได้เหมือนกัน ซึ่งแต่ละอย่างที่ผมพล่ามมาถ้าย้อนยุคไปซัก 20 – 30ปีก่อน ไปเล่าให้คนบ้ารถเข้าเส้นฟังคงขำฟันร่วงแล้วว่า “นี่เอ็งเมาไรมาป่าววะ”แน่ๆ ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับเลื่อนลงไปอ่านต่อได้เลยย!!
Exterior (ภายนอก)
รถคันนี้เป็นรุ่นย่อยตัวท็อปสุดของD-maxซึ่งก็คือตัว V-cross Double Cab 3.0 M 6AT 4×4 ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 1,257,000฿ สี Bavarian Black Mica มีมิติตัวถังดังนี้
- ยาว 5,280 mm. กว้าง 1,870 mm. สูง 1810 mm
- ความยาวฐานล้อ: 3,125 mm. ความสูงใต้ท้อง: 240 mm. (ลุยน้ำได้สูงสุด 800 mm)
- น้ำหนัก: 2,025 kg. ความจุถังน้ำมัน: 80 L. (รองรับสูงสุดถึง ดีเซล B20)
- ขนาดล้อ 18 นิ้ว ลายใหม่ Rugged & Wild กว้าง 5 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60R18
- กระจังหน้า, กันชนหน้า, ฝาท้าย, ไฟหน้าและไฟท้ายดีไซน์ใหม่
หน้าตาภายนอกลุคเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นทรงหล่อวัยรุ่นกลายเป็นมาดลุยและดุดันมากขึ้นจากการเสริมคิ้วตกแต่งสีดำค่อนข้างหนา พร้อมไฟท้ายทรงเกราะอัศวินที่ดูโดดเด่นมากขึ้นโดยเฉพาะเวลากลางคืน
Interior (ภายใน)
ภายในถึงแม้ดูเผินๆจะเหมือนเดิมแต่เพิ่มเติมคือการเปลี่ยนชุดมาตรวัดใหม่ Super Vision จอขนาด 7 นิ้ว, Paddle Shift, เพิ่มระบบแสดงผลมุมปีนไต่และองศาล้อตอนเลี้ยว, ปรับมุมกล้อง 3D Imaging Stereo Camera กว้างกว่าเดิมพร้อมระบบ Rear Cross Traffic Alertซึ่งรถจะเบรคเองเพื่อความปลอดภัยในเวลาที่ถอยหลังแล้วมีอะไรมาขวางหรือตัดหน้า, เพิ่มระบบ Rough Terrian Mode จาก Isuzu Mu-X และเปลี่ยนวัสดุการตกแต่งภายในใหม่
ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูดุดันแต่ภายในนั้น แฝงไปด้วยการตกแต่งที่ดูผู้ใหญ่และหรูหราจากการเลือกโทนสีดำกับน้ำตาลมาผสมกันอย่างลงตัว ภายในมีดีไซน์ที่โดยส่วนตัวมองว่าสวยอันดับต้นๆในกลุ่มรถกระบะ เพียงวัสดุกับงานประกอบยังถือว่ากลางๆไม่แย่ พวงมาลัย 3 ก้านค่อนข้างหนาแต่จับสบาย กระชับมือพองาม ส่วนเบาะนั้นจัดว่าเป็นรถกระบะที่สบายทุกที่นั่ง เป็นเบาะที่ลงตัวที่สุดในกลุ่มรถกระบะทั้งหมด คือมีความนุ่มสบาย โอบตัวดี เบาะรองนั่งดี ไม่ดันหัว นั่งยาวๆแล้วไม่เมื่อย ความกว้างสบายก็ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆของกลุ่ม มาตรวัดใหม่ก็ทำให้อ่านค่าง่ายขึ้น และจุดเด่นของเขาก็คือมีกรองPM 2.5มาให้ด้วย เครื่องเสียงก็อยู่ในระดับปานกลางทำได้ไม่แย่เลย ส่วนกล้องแม้ว่าจะปรับมุมมองเพิ่มมาดีขึ้นส่วนตัวก็ยังคิดว่าถ้าเพิ่มเป็นกล้องรอบคันได้จะดีกว่าครับรถคันโตๆสำหรับบางคนอาจมีอุปสรรคเวลากะระยะตอนถอย
Specifications (สเปค)
Engine : รหัส 4JJ3-TCX ความจุ 3.0L ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว กระบอกสูบ × ช่วงชัก : 95.4 × 104.9 กำลังอัด 16.3 : 1 Common rail Direct-Injection มาพร้อมกับระบบอัดอากาศเทอร์โบชาร์จเจอร์ตัวเดียวแบบมีครีบแปรผัน VGS ที่โข่ง พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์แบบอากาศ
(Power) กำลังสูงสุด : 190 แรงม้า ที่รอบ 3,600 รอบต่อนาที (Torque) แรงบิดสูงสุด : 450 นิวตันเมตร ที่รอบ 1,600-2,600 รอบต่อนาที
ส่งกำลังสู่ล้อด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ RevTronic จาก Aisin มีอัตราทดดังนี้
- เกียร์ 1 3.600
- เกียร์ 2 2.090
- เกียร์ 3 1.488
- เกียร์ 4 1.000
- เกียร์ 5 0.687
- เกียร์ 6 0.580
- เกียร์ R 3.732
- เฟืองท้าย 727
ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part-time
Steering system (ระบบบังคับเลี้ยว) : Rack & Pinionพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบน้ำมัน (Hydraulic) รัศมีวงเลี้ยว 6.1 เมตร
Suspension system (ระบบช่วงล่าง) :
F (หน้า) : Double Wishbone พร้อมเหล็กกันโคลงและช็อกอัพแก๊ส
R (หลัง) : คานแข็งพร้อมแผ่นแหนบซ้อนและช็อกอัพแก๊ส
Brake System : ดิสเบรค 4 ล้อ พร้อม ABS EBD
F (หน้า) : ดิสเบรกขนาด 320 mm พร้อมครีบระบายความร้อน
R (หลัง) : ดรัมเบรก
Body & Chassis : Isuzu Dynamic Drive Platform ซึ่งมีการเพิ่มเหล็ก Ultra-High tensileในโครงสร้างรถให้มากกว่ารุ่นเดิมก่อนโฉมพลิกโลก ทำให้สามารถรับแรงกระทำได้สูงขึ้น 23% อีกทั้งยังขึ้นรูปด้วยเหล็กกล้าเพื่อรองรับการขับที่สมบุกสมบันมากขึ้น และมีการย้ายตำแหน่งการวางเครื่องให้ถอยชิดผนังห้องโดยสารมากขึ้นแบบกึ่งๆจะเป็น Front Midship ซึ่งหวังผลในการกระจายน้ำหนักรถที่ดีขึ้น ควบคุมได้ดั่งใจมากขึ้น น้ำหนักตกคานหน้าลดลง
* มีระบบช่วยการทรงตัว ESC
* มีระบบป้องกันล้อลื่นไถล Traction Control
Let’s Drive!! (ลองขับ)
อัตราเร่ง : ช่วงต้นออกตัวค่อนข้างแซ่บกว่าเพื่อนๆในตลาด แรงดึงค่อนข้างดี ถ้าตั้งใจกดจริงๆล้อจะฟรีเอี้ยดแทบทุกรอบและทำได้ง่ายมากกว่ารถคู่แข่ง (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปิด Traction Control) 0 – 100 km/h ตีไปเลยยังไงก็ได้แถวๆ 9 วิปลายๆถึง 10 วิต้นๆได้ไม่ยาก ช่วงกลางหลัง 100 km/h ก็ยังไหลต่อเนื่องไปได้ดี แต่พอประมาณช่วงเกียร์ 5 หรือความเร็วประมาณ 150 km/h จะเริ่มรู้สึกว่าช้าลงชัดเจนคาดว่านอกจากอัตราทดเกียร์ทดห่างจนรอบตก (ซึ่งจริงๆรถเครื่อง 3000 เทอร์โบแปรผันที่แรงบิดมาไวและกว้างแบบนี้ไม่น่ามีปัญหาเรื่องเหี่ยวแบบนี้) คือมีการจงใจหรี่บูสเทอร์โบลงเพื่อเตรียมล็อคความเร็วสูงสุด (ที่ 183 km/h) คาแร็คเตอร์ของเครื่องจะเป็นแนวเน้นแรงบิดมาไวและกว้างตามสไตล์เครื่องปอดโต ซึ่งข้อดีคือมีพละกำลังดีตั้งแต่รอบต่ำ แทบไม่มีอาการรอรอบ (Turbo lag) แถมเวลาลากรอบไป ก็ไม่เหี่ยวลงชัดเจน โฉมที่แล้วหรือพวกรถดีเซลเทอร์โบคู่ยุคใหม่ที่จะลากไปยันเรดไลน์ แล้วยังมีแรงน้องๆเครื่องเบนซิน แล้วพอเครื่องนิสัยแบบนี้บวกกับการเซ็ตคันเร่งและการตอบสนองของเกียร์ใหม่ตามสั่งและทันใจขึ้นจนทำให้อาการคันเร่งหน่วงตามสไตล์ Isuzu ดั้งเดิมที่ใครขับแรกๆก็บ่นว่าทำไมมันอืดๆหน่วงๆไม่ค่อยพุ่งหายไปเยอะทำให้ขับแล้วคล่องตัวมากขึ้น เหนื่อยน้อยลง รถรุ่นใหม่นี้ถ้ากดคันเร่งแค่ครึ่งเดียวรถจะตอบสนองทันทีพร้อมกับเกียร์เปลี่ยนลงให้ 1 จังหวะในขณะที่ในรถรุ่นเดิมจะไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์ให้เลยแถมคันเร่งจะlagไปเกือบ 1 วินาทีเหมือนจงใจเซ็ตคันเร่งมาเอาใจผู้ใหญ่สายประหยัดมากไปหน่อยต้องกดลึกๆถึงจะมา และโหมด Manual ก็ตอบสนองไวต่อคำสั่งมากขึ้นโดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น
การขับขี่ : มีปรับการตอบสนองเครื่องยนต์และเกียร์จนขับสนุกขึ้นแต่อาการของช่วงล่างกับพวงมาลัยยังคงเหมือนเดิม ฟีลลิ่งพวงมาลัยคือถ้าขับธรรมดาชิลๆถือว่าสบายเป็นพวงมาลัยแรคไฮดรอลิคที่เซ็ตค่อนข้างเบา ถ้าวิ่งเร็ว(มาก)ก็จะเจออาการสั่นที่พวงมาลัยค่อนข้างเยอะ ส่วนในเรื่องของช่วงล่างก็เหมือนเดิมครับ หน้าเหมือนจะนุ่มแต่ท้ายก็มีเด้งบ้าง
Isuzu คือเป็นรถที่ดูยวบๆ นิ่มๆ เด้งๆ Body control เหมือนจะไม่ดี แต่กลับเกาะถนนดี เลี้ยวดี คือถ้าคุณใจกล้าโยนโค้งแล้วถ่ายน้ำหนักดีๆจะพบว่ามันเกาะดี แต่คุณต้องเป็นพวกที่บ้าเล่นโค้งจนยางร้องแล้วไม่กลัวอาการรถนะครับ ไม่งั้นคุณอาจจะกลัวจนยกคันเร่งไปซะก่อน เ แต่ถ้าเล่นบทโหดหนักๆมากก็ระวังระบบช่วยการทรงตัว ESC ของเขาที่มาขัดขวางคึกคะนองของคุณตัดความเร็วโหดซะยิ่งกว่าครูฝ่ายปกครองเห็นคุณโดดเรียนซะอีก ตัดจนบางทีก็ทำให้รถมันเป๋กลางโค้งไปเอง แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปปิดมันหรอกครับโดยเฉพาะคนขับทั่วไปที่ไม่ใช่นักแข่ง…มีแล้วใช้อุ่นใจกว่าครับ ถนนทุกวันนี้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้อุบัติเหตุมีทุกวันครับ ในส่วนของเบรกทำได้ค่อนข้างดี ระยะเหยียบไม่ลึกหรือตื้นไป ขับแบบนุ่มๆง่าย กดไปแรกๆ 10-20% เหมือนลึกแต่หลังจากนั้นกลายเป็นเบรคอยู่ได้ดีเลย สำหรับสายซิ่งสายโมดิฟาย น่าจะต้องเปลี่ยนผ้าเบรกนะครับ ของเดิมโรงงานไม่ได้ออกแบบมารองรับการขับที่รุนแรงมากอยู่ดี แต่ถ้าขับขี่แบบคนทั่วไป และใช้ชีวิตแบบไม่ได้อยู่บนดอย ผ้าเบรกเดิม เพียงพอแล้ว
การเก็บเสียง : กลางๆไม่เด่นเท่าไหร่แต่ถือว่าไม่แย่ เสียงลมดังพอประมาณ แต่พื้นล่างเก็บได้ค่อนข้างดี อีกสิ่งที่ยังคงดังคือเสียงเครื่องยนต์ 3.0 ที่ดังตั้งแต่รอบเดินเบายันรอบสูง ดังเข้ามาในห้องโดยสารมากกว่าคู่แข่งชัดเจนในจุดนี้ แต่ถ้าคนที่ขับคันนี้ทุกวันและไม่คิดอะไรมากกับเสียงเครื่อง จะรู้สึกชินแล้วไม่ได้ใส่ใจกับเสียงเครื่องมาก เพราะเสียงไม่ได้ดังจนน่ารำคาญ
อัตราสิ้นเปลือง : ตรงนี้แหละจุดเด่นของเขาคือค่อนข้างประหยัดเป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม ทั้งๆที่เครื่องก็ใหญ่ อัตราทดเกียร์ก็ไม่ได้เยอะกว่าคู่แข่ง แต่รถกลับประหยัดกว่าเพื่อน (ในตัวท็อป High Powerด้วยกันนะ) น้ำมันถังนึงวิ่งทางไกลต่อให้มีบี้บ้างก็ได้1000กิโลได้ไม่ยากมาก ต่อให้วิ่งในเมืองอัตราสิ้นเปลืองก็ลงไปเลขหลักตัวเดียวได้ยากถ้าไม่ขยันบี้ๆๆๆจริงๆก็ยังอยู่ 10 – 11 Km/L. ถ้าวิ่งทางไกลก็จะอยู่แถวๆ 13 – 14 Km/L. ฟังดูถ้าเทียบกับรถยุคนี้คลาสอื่นคงมองว่า…แดร๊กส์น้ำมันกระจุย5555 แต่คุณต้องไม่ลืมว่ากระบะตัวสูงขับ4 เครื่องใหญ่High Power ทรงต้านลม ล้อโต ตัวโต หนา หนัก ใหญ่ได้แบบนี้ก็คือประหยัดกว่าเพื่อนส่วนใหญ่แล้วครับ
Verdict (สรุป) : ถ้าปรับแก้อาการช่วงล่างกับพวงมาลัยคราวนี้จะได้เหนือลิมิตพิชิตคู่แข่งได้สบายจริงๆ
Isuzu มีจุดแข็งด้านศูนย์บริการดีอุ่นใจ อะไหล่เยอะ เพื่อนเล่นเยอะ เครื่องแรงโมดิฟายต่อยอดได้ง่าย ประหยัด เบรกดี ออฟชั่นให้มาพอเพียง รถใช้งานง่ายเข้าใจไม่ยาก แถมระบบ Magic eyes ก็ทำงานได้อย่างฉลาดมาก เพิ่มลดความเร็วเองได้เนียน เป็นรถที่จริงๆแล้วเหมาะกับการเป็นรถพื้นฐานในการไปแต่งต่อให้เข้ากับตัวเองครับ สำหรับสายซิ่ง ถ้าอยากให้รถเกาะนิ่ง เบรกดีกว่านี้ ตั้งศูนย์ใหม่, หาโช๊คดีๆกับล้อเบายางเกาะซักชุด + ผ้าเบรกซิ่งทนความร้อนดีขึ้นซักชุด หรือรถเดิมยังแรงไม่ดุพอ?? ลำพังตัว 3.0 แค่รีแมปเฉยๆก็กินคู่แข่งทุกคันในสเตปเดียวกันอยู่แล้วครับ แล้วจุดอ่อนเขาก็แก้ไม่ยากด้วยความที่มีเพื่อนเล่นเยอะทำให้ของแต่งเพียบชนิดที่ว่าอยู่ที่งบประมาณท่านครับ…