เกียรติธนา ขนส่ง รับมือ 7 วันอันตราย ด้วยเทคโนโลยีป้องกันการหลับใน Guardian System

  • ควบคุม แจ้งเตือน และระงับเหตุด้วยเทคโนโลยี AI
  • Fleet ชั้นนำของประเทศ ใช้ Guardian System ควบคุมกองรถขนส่ง

บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษที่เน้นความปลอดภัยสูง และเป็นผู้แทนจำหน่ายระบบเทคโนโลยีป้องกันการหลับในและการละสายตาขณะขับขี่ Guardian System แต่ผู้เดียวในประเทศไทย เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพจราจรหนาแน่นช่วงเทศกาลปีใหม่หรือ 7 วันอันตรายด้วย Guardian System ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารกองรถบรรทุกมาอย่างต่อเนื่อง

นายเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บมจ. เกียรติธนา ขนส่ง เปิดเผยว่าจากการแนะนำ Guardian System ในตลาดมาเป็นระยะเวลา 7 ปี และได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด โดยเฉพาะผู้บริหารกองรถบรรทุก ทั้งนี้เพราะระบบนี้ สามารถช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ระบบนี้กลายเป็นมาตรฐานที่ผู้บริหารกองรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกองรถบรรทุกวัตถุอันตราย ได้นำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสเป็คการจัดซื้อหรือจัดจ้างกองรถบรรทุก ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ได้กำหนดให้มีการติดตั้งระบบที่มีลักษณะเดียวกันกับ Guardian System ในรถบรรทุกขนาดใหญ่” นายเมฆ กล่าว

 

ภายใต้การทำงานของ Guardian System เราจะดำเนินการติดตั้งระบบที่เป็น Hardware ในรถบรรทุกพร้อมติดตั้งระบบ Software เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถแบบ Realtime ได้แก่การใช้โทรศัพท์มือถือ การละสายตาจากเส้นทางหรือแม้กระทั่งการหลับในที่ระบบจะมีการสแกนม่านตาเพื่อประเมินความพร้อมของพนักงานขับรถตลอดเวลาและรายงานเข้าศูนย์สั่งการตลอด 24 ชั่วโมงแบบ Realtime ซึ่งการประเมินผลของระบบเป็นไปอย่างแม่นยำด้วยระบบการรวบรวมข้อมูลและประเมินผลของระบบ Artificial Intelligent หรือ AI

 

นายเมฆกล่าวว่าปัจจุบันมีรถบรรทุกที่ติดตั้ง Guardian System ไปแล้วมากกว่า 2,500 คัน โดยมีบริษัทชั้นนำที่นำ Guardian System ไปใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ PTTOR , Air Liquide , MK Restaurant เป็นต้น

 

นายเมฆกล่าวถึงข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 พบว่าระบบได้ตรวจจับและเตือนพนักงานขับรถมากถึง 87,621 ครั้ง จนทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนได้ โดยจำนวนดังกล่าวแบ่งออกเป็นอาการหลับใน 9,971 ครั้ง การละสายตาจากเส้นทาง 66,450 ครั้ง และการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ 11,200 ครั้ง

“ทุกครั้งที่ระบบจับได้ว่าพนักงานขับรถคนใดมีอาการง่วงจนไปสู่การหลับใน จะมีการแจ้งเตือน โดยหากยังไม่ดีขึ้น ศูนย์บัญชาการจะสั่งคนขับให้หาที่ปลอดภัยและจอดรถเพื่อให้รอพนักงานขับรถคนใหม่ไปรับหน้าที่แทน ดังนั้นเราจึงมั่นใจได้ว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถป้องกันได้จริง แต่ในหลายครั้ง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นอุบัติเหตุที่เกิดจากคู่กรณีขับรถด้วยความประมาท หรือไม่อยู่ในสภาพพร้อมขับรถ เป็นต้น” นายเมฆ กล่าว